แนะนำโครงการ

การสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาคปกติของสถาบัน หมายถึง  การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิสก์(e-Testing)  ตามชุดวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์ต่างๆ โดยนักศึกษาทุกคนต้องเข้ารับการสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์ ตามประกาศสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่องเกณฑ์การสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาคปกติ  ลงวันที่ 23 เมษายน 2551  กำหนดไว้ดังนี้

1) ชุดวิชาที่ 1  Computer Literacy  มีเนื้อหาประกอบด้วย Basic Concept of IT, Word processing, Spreadsheets, Presentation, Internet & E-mail กำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องทดสอบชุดวิชาที่ 1 ให้ผ่านก่อนสำเร็จการศึกษา  โดยสามารถเข้ารับการทดสอบได้ตั้งแต่ภาคเรียนแรกที่ลงทะเบียน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการสอบ  หากสอบไม่ผ่านจะต้องเข้ารับการทดสอบจนกว่าจะสอบผ่าน และเสียค่าธรรมเนียมในการสอบครั้งต่อไป  ซึ่งผลการสอบดังกล่าวจะบันทึกในใบรับรองผลการศึกษาของนักศึกษา  

2) ชุดวิชาที่ 2 Computer Competency แบ่งการทดสอบเป็นรายวิชาจำนวน 3 วิชา ประกอบด้วย 

a.  Word processing

b.  Presentation

c.  Internet & E-mail  

3) ชุดวิชาที่ 3 Computer Proficiency  แบ่งการทดสอบเป็นรายวิชา จำนวน 3 วิชา ประกอบด้วย 

a.Spreadsheets

b. Database

c. Information System 

การทดสอบชุดวิชาที่ 2 และ 3 เป็นไปตามความสมัครใจ โดยผู้สมัครจะสมัครสอบชุดวิชาที่ 2 จะต้องสอบผ่านชุดวิชาที่ 1 ก่อน และผู้ที่จะสมัครสอบชุดวิชาที่ 3 จะต้องสอบผ่านชุดวิชาที่ 2 ก่อน เมื่อนักศึกษาสอบผ่านในชุดวิชาใดจะได้รับใบรับรองผลสำหรับการสอบของชุดวิชานั้น 

 

หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของนักศึกษาในการสมัครสอบจัดระดับ

นักศึกษาระดับปริญญาโทภาคปกติของสถาบันทุกคนจะต้องผ่านการสอบจัดระดับก่อนการสำเร็จ

การศึกษา ซึ่งการสอบจัดระดับมีความสอดคล้องกับการสอบประมวลความรู้ของแต่ละคณะ โดยแต่ละคณะมีหลักเกณฑ์เข้ารับการสอบแตกต่างกัน  สรุปได้ดังนี้

1) นักศึกษาที่สอบจัดระดับฯ  ไม่ผ่าน  สามารถสอบประมวลความรู้ได้  มีจำนวน  5 คณะ คือ    คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม  คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ   คณะภาษาและการสื่อสาร  และคณะการจัดการการท่องเที่ยว

2) นักศึกษาที่สอบจัดระดับฯ ไม่ผ่าน ไม่สามารถสอบประมวลความรู้ได้ จำนวน 2 คณะ  คือ  คณะรัฐประศาสนศาสตร์  และคณะนิติศาสตร์

ทั้งนี้ ยังมีนักศึกษาบางรายที่ผ่านการเรียนครบถ้วนทุกรายวิชาในหลักสูตรแล้ว และกำลังจะจบการศึกษาแต่ยังมีผลการสอบจัดระดับฯ “ไม่ผ่าน” จึงทำให้ไม่สามารถสอบประมวลความรู้ได้ หรือไม่สามารถจบการศึกษาได้ เพื่อประโยชน์และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสอบกรณีพิเศษ  ดังนี้

(1)  นักศึกษาจะต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติในการสมัครสอบประมวลความรู้  

(2) นักศึกษาจะต้องเข้าทดสอบการสอบจัดระดับความรู้ฯ  มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง 

(3) เกณฑ์การคิดคะแนนผ่านในการจัดสอบกรณีพิเศษแต่ละครั้ง  ให้นำคะแนนผ่านของการสอบย้อนหลังจำนวน 3 ครั้ง มาหาค่าเฉลี่ย  เพื่อให้เป็นเกณฑ์คะแนนผ่าน   

(4) นักศึกษาจะต้องยื่นคำร้องขอสอบกรณีพิเศษผ่านคณะ  เมื่อคณะตรวจสอบคุณสมบัตินักศึกษาตามข้อ (1) แล้วจึงทำบันทึกแจ้งรายชื่อไปยังสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศเพื่อดำเนินการ

 

หลักสูตรที่ได้รับการยกเว้น

สถาบันได้มีประกาศสถาบันเรื่อง หลักสูตรที่ได้รับการยกเว้นการสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยแยกประเภทนักศึกษาที่ศึกษาตามหลักสูตรที่ได้รับการยกเว้น ตามประกาศของสถาบัน

1) หลักสูตรที่ได้รับการยกเว้นการสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์ 

คือนักศึกษาของคณะสถิติประยุกต์ซึ่งศึกษาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นไปตามประกาศสถาบันฯ (ฉบับที่ 2)  ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2553   ดังนี้  

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริการความเสี่ยง

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาสถิติประยุกต์

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาสถิติ

2) นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรดังต่อไปนี้  จะได้รับการยกเว้นการสอบจัดระดับความรู้ ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์   โดยมีเงื่อนไขตามประกาศสถาบันฯ คือเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาคปกติที่ศึกษาในหลักสูตรที่มีวิชาเอกทางคอมพิวเตอร์ หรือ หลักสูตรที่มีการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์ และ/หรือวิชาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือผ่านการสอบเทียบวิชา ตามหลักสูตร ต่อไปนี้  เป็นไปตามประกาศสถาบัน ลงวันที่ 22 มกราคม 2552  มีดังนี้  

• หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต

• หลักสูตรการจัดการภาครัฐและเอกชนมหาบัณฑิต

• หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาสถิติประยุกต์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต    สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม

• หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารเฉพาะนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนก่อนภาคเรียน 1 ปีการศึกษา 2552

 

กำหนดการสอบจัดระดับความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และ การจัดเรียนเสริม

  สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศจะจัดการทดสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางคอมพิวเตอร์ชุดวิชาที่ 1 Computer Literacy  ให้นักศึกษาปริญญาโท ภาคปกติ ด้วยระบบ e-Testing  ปีการศึกษาละ 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 จัดการสอบในเดือนมิถุนายน  กำหนดการสอนเสริมก่อนการสอบ 2 สัปดาห์

ครั้งที่ 2 จัดการสอบในเดือนกันยายน  กำหนดการสอนเสริมก่อนการสอบ 2 สัปดาห์

ครั้งที่ 3 จัดการสอบในเดือนธันวาคม  กำหนดการสอนเสริมก่อนการสอบ 2 สัปดาห์

ครั้งที่ 4 จัดการสอบในเดือนมีนาคม   กำหนดการสอนเสริมก่อนการสอบ 2 สัปดาห์

 

โดยการจัดสอนเสริมเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนเสริมความรู้ทางคอมพิวเตอร์พื้นฐาน (Tutorial Class)  ให้กับนักศึกษาที่มีความสนใจและนักศึกษาที่ไม่ผ่านในการสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางคอมพิวเตอร์  โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  โดยในการเรียนเสริมในแต่ละครั้งจะดำเนินการก่อนการสอบประมาณ 2 สัปดาห์  โดยทำการเปิดรับสมัครการสอบ Online ทาง http://etr.nida.ac.th/eRegister/index.php  โดยสามารถเข้าผ่านเว็บไซต์ของสำนักที่ http://itc.nida.ac.th    และรับสมัครเรียนเสริมโดยกรอกแบบฟอร์มสมัครเรียน โดยนำมายื่นที่สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ ชั้น 11 อาคารสยามบรมราชกุมารี 

ทั้งนี้  นักศึกษาที่จะขอรับการสอบกรณีพิเศษ จะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้น   โดยติดต่อคณะที่ตนเองศึกษาเพื่อจัดทำหนังสือมายังสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติต่อไป

 

สถิติจำนวนนักศึกษาที่เข้ารับการสอบจัดระดับฯและการเรียนเสริม

สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศได้จัดการสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษาปริญญาโท ภาคปกติ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 จน ถึงปัจจุบัน รวม 7 ปี  จำนวน 30 ครั้ง  โดยมีนักศึกษาเข้ารับการสอบรวมทั้งสิ้น 2,538 คน  ผ่านการทดสอบทั้งสิ้น 2,100 คน และมีนักศึกษาได้เข้าเรียนเสริมที่สำนักจัดขึ้น จำนวน 1,083 คน

 

 

Loading...
Loading...