สามารถแบ่งกลุ่มของระบบสารสนเทศต่าง ๆ ได้ ดังนี้
1. ระบบสารสนเทศสนับสนุนงานสำนักงานและการบริหาร มีดังนี้
1.1 ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System : MIS) เป็นระบบที่ใช้ในการดำเนินงานด้านการคลังและบุคลากร ประกอบด้วยระบบย่อย ได้แก่ ระบบงบประมาณ, ระบบบัญชีและการเงิน, ระบบจัดซื้อจัดจ้าง, ระบบพัสดุและครุภัณฑ์, ระบบบุคลากร และระบบเงินเดือน ซึ่งในระยะที่ผ่านมามีการพัฒนาและปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
1.2 ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document : e-DOC) เป็นระบบที่ใช้ในการรับ ส่ง และเวียนเอกสารระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในสถาบัน เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งานระบบ เนื่องจากสามารถส่งและรับหนังสือผ่านระบบ โดยเฉพาะการเวียนหนังสือไม่จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือ และลดเวลาในการส่งหนังสือ รวมทั้งข้อมูลการรับส่งเอกสารถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ สามารถสืบค้นได้อย่างรวดเร็ว
1.3 ระบบจองทรัพยากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Reservation System : ERS) เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการด้านการใช้ทรัพยากรของสถาบัน เช่น ห้องเรียน ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ และบริการด้านกีฬา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขอใช้ การอนุมัติการใช้งาน การจัดห้องเรียนโดยอัตโนมัติและการติดตามผลการใช้งานทรัพยากร รวมทั้งการจัดทำรายงานต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความพึงพอใจของ นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ ที่มาใช้บริการ
1.4 ระบบสารสนเทศการบริหารงานบุคคล (Human Resource Information System : HRIS) จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ด้านงานบริหารงานบุคคล การประเมินสมรรถนะ โดยบุคลากรสถาบันสามารถบันทึกข้อมูลการพัฒนาตนเอง หรือกิจกรรมการอบรม และสามารถทำการประเมินสมรรถนะผ่านระบบได้ อีกทั้งยังมีส่วนระบบรับสมัครงาน ที่สามารถบันทึก จัดทำประกาศรับสมัครงานของพนักงานสายวิชาการและสายสนับสนุน ซึ่งผู้สมัครงานสามารถบันทึกข้อมูลการสมัครผ่านระบบได้
1.5 ระบบบริหารจัดการยุทธศาสตร์ (Strategy Management System : SMS) เป็นระบบที่ใช้ในการเก็บข้อมูลการจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับสถาบันและระดับหน่วยงานต่าง ๆ ของสถาบัน รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดินและนโยบายของรัฐ พร้อมทั้งมีการติดตาม ประเมินผล และรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของตัวชี้วัดสถาบัน ตัวชี้วัด สงป. ตัวบ่งชี้ สกอ. ตัวชี้วัด ก.พ.ร. และตัวชี้วัด สมศ. เพื่อให้สอดรับกับงานประกันคุณภาพของสถาบัน
1.6 ระบบฝึกอบรม (Training Management System : TMS) เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรฝึกอบรม ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว โดยสามารถจัดการในทุกกระบวนการ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์หลักสูตรของสถาบัน การรับสมัคร ขึ้นทะเบียน ลงทะเบียนฝึกอบรม การชำระเงิน การประเมินผล การพิมพ์ใบประกาศนียบัตรรับรองหลักสูตรฝึกอบรม จนถึงการติดตามส่งข้อมูลข่าวสารไปยังผู้เรียนผ่านระบบลงทะเบียน
1.7 ระบบบริหารจัดการงานวิจัย (Research Management System : RMS) พัฒนาขึ้นเพื่อบริหารจัดการข้อมูลงานวิจัย และงานบริการวิชาการ ซึ่งรองรับกระบวนการทำงานของการพิจารณาให้ทุนงานวิจัยต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการให้นักวิจัยยื่นข้อเสนองานวิจัย การติดตามโครงการที่กำลังดำเนินการวิจัย รวมถึงการประเมินผลหลังสิ้นสุดการวิจัยแล้ว ทั้งนี้ระบบจะเชื่อมโยงและนำเข้าข้อมูลจากฐานข้อมูลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสถาบัน (ระบบบริหารงานวิจัยของประเทศ : NRMS) ได้
2. ระบบสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอน มีดังนี้
2.1 ระบบบริการการศึกษา เป็นระบบที่ใช้เพื่องานบริการการศึกษา ประกอบด้วยระบบย่อย ได้แก่ ระบบรับสมัคร ระบบทะเบียนนักศึกษา และระบบทุนการศึกษา โดยปัจจุบันระบบรับสมัครและระบบลงทะเบียนได้มีการทำเป็นลักษณะออนไลน์ เพื่อให้ผู้สมัครและนักศึกษาสามารถดำเนินการได้เอง
2.2 ระบบการสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Testing) เป็นระบบที่ใช้ในการจัดสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความสะดวกกับผู้เข้าสอบและทราบผลการสอบได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันใช้ในการสอบเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ภาคปกติ และการสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์
2.3 ระบบประเมินผลการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ (EVS) เป็นระบบที่ใช้ประเมินผลการเรียนการสอนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของอาจารย์ผู้สอน โดยนักศึกษาเป็นผู้กรอกข้อมูลการประเมินด้วยตนเอง ทำให้สถาบันและอาจารย์ผู้สอนมีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการสอนของอาจารย์ผู้สอนได้
2.4 ระบบฐานข้อมูลหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (Thai Qualifications Framework : TQF) เป็นระบบบริหารจัดการงานหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ โดยอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหลักสูตร งานวิชาการคณะ ตลอดจนอาจารย์ประจำวิชา ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถสร้างมคอ. ตามรูปแบบต่างๆ และติดตามการบันทึกข้อมูลได้ ตลอดจนการจัดพิมพ์รายงานของระบบ ทั้งนี้ระบบสามารถเรียกใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อการบริการการศึกษาของกองบริการการศึกษา ส่งผลให้มีการบริการข้อมูลที่สะดวกรวดเร็ว และลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้
2.5 ระบบการเขียนวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ (i-Thesis) เป็นระบบเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาในการเขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ โดยสถาบันจะได้รับข้อมูลโครงร่างผ่านระบบ ซึ่งไม่ต้องอาศัยกระบวนการตรวจรูปเล่มวิทยานิพนธ์ด้วยเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงช่วยให้กระบวนการส่งวิทยานิพนธ์มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
2.6 นิด้ายูแอป (NIDA UApp) คือ แอปพลิเคชันที่ธนาคารกรุงไทยร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พัฒนาขึ้นมาให้เป็นบริการครบที่จุดเดียว (One Stop Service) เปิดใช้งานในเดือนพฤศจิกายน 2563 นักศึกษาสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้เพื่อแสดงบัตรเสมือน (Virtual Card) ซึ่งใช้แทนบัตรนักศึกษาในการยืนยันตัวตนเป็นนักศึกษา ยืนยันตัวตนเข้าห้องสอบ และใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของสถาบัน เช่น การเข้าใช้ห้องสมุด การยืมคืนหนังสือ ฟังก์ชันคะแนนและรางวัล (Point and Reward) กิจกรรมสะสมคะแนนเพื่อแลกสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น คูปองส่วนลดฟู้ดแพนดา (Food panda) บัตรเติมน้ำมัน คูปองลาซาด้า (Lazada) ฟังก์ชันอัปเดตข่าวสารและกิจกรรมของสถาบัน ฟังก์ชันแสดงผลการศึกษา (Transcript) ตารางเรียน/ตารางสอน และการเช็กชื่อเข้าชั้นเรียน
3. ระบบสารสนเทศสนับสนุนงานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ มีดังนี้
3.1 ระบบสถิติการใช้งานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ใช้ในการออกรายงานสถิติการใช้งานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เพื่อดูความถี่ในการใช้งานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ว่าใช้งานช่วงเวลาไหน มากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินความพอเพียงของทรัพยากรว่าเหมาะสมหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนทรัพยากรของห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
3.2 ระบบบริการงานพิมพ์ด้วยตนเอง (Self Service Printing) เป็นการให้บริการพิมพ์งานด้วยเครื่องพิมพ์จากบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ ดิจิตอล ซินเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครื่องพิมพ์ซึ่งนักศึกษาสามารถสั่งพิมพ์ผ่านมือถือ หรือผ่านเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกสบาย วิธีการใช้งานเพียงแค่ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น double A fast print แล้วสามารถเติมเงินได้ มีการสะสมแต้ม และเมื่อสั่งพิมพ์จะมีการตัดเงินให้อัตโนมัติ
4. ระบบสารสนเทศอื่น ๆ ได้แก่
4.1 ระบบฐานข้อมูลศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นระบบเพื่อจัดเก็บข้อมูลศิษย์เก่าของสถาบัน ข้อมูลทั้งหมดจะได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง และแก้ไขให้เป็นปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลศิษย์เก่าสัมพันธ์มีความน่าเชื่อถือ สามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้